ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง"หมู่บ้านจงเจริญ"อยู่ดีมีสุข - เกษตรทั่วไทย

{[['']]}
หากพูดถึง “เศรษฐกิจพอเพียง” แล้ว เป็นหลักปรัชญาในการดำรงชีวิตที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 25 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำ แนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลง ต่อมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการส่งเสริมให้ประชาชนนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิต เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่อย่างพอเพียง ครอบครัวมีความอบอุ่น และชุมชนเกิดความเข้มแข็ง เมื่อวันที่ 9-10 มิ.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มนักศึกษาหลักสูตรผู้นำยุคใหม่ ในระบอบประชาธิปไตย รุ่นที่ 2 ของสถาบันพระปกเกล้า ได้มีโอกาสลงพื้นที่หมู่ที่ 15 หมู่บ้านจงเจริญ ต.หลุมลัง อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี โดยมี นายวสันต์ ตระกูลโอสถ เป็นผู้ใหญ่บ้าน ทั้งนี้ชาวบ้าน ต.หลุมลัง ส่วนใหญ่มีอาชีพปลูกอ้อยส่งโรงงานน้ำตาล โดย นายวสันต์ ผู้ใหญ่บ้านคนเก่ง เล่าว่า ก่อนที่จะนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในหมู่บ้าน ผมได้เข้าไปอบรมเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและได้ไปดูงานของโครงการในที่ต่าง ๆ ที่เขาได้ปฏิบัติมาก่อน ดูวิธีการเลี้ยงหมูหลุม การเลี้ยงปลาดุกในบ่อ การเพาะเห็ดนางฟ้า การเลี้ยงไก่ไข่ การเลี้ยงเป็ด และ ปลูกพืชผักสวนครัว “เมื่อผมกลับมาถึงหมู่บ้านก็มาคิดว่าจะทำอะไรดี ก็เริ่มจากการเลี้ยงหมูหลุมเพราะชอบ แต่ของผมจะใช้แกลบเป็นพื้นรองเพื่อเวลาที่หมูถ่ายมูลออกมาจะได้ผสมกับแกลบ จากนั้นก็นำแกลบที่ได้มาเป็นปุ๋ยรดต้นอ้อยและต้นไม้ต่าง ๆ นอกจากนั้นน้ำที่ใช้เลี้ยงหมูเราก็ใช้น้ำหมักชีวภาพ ซึ่งหมูที่เลี้ยงจะไม่มีกลิ่นเหม็น ถ้ามีก็มีน้อยมาก จากแม่พันธุ์มาเลี้ยงจะได้ลูกครอกหนึ่งประมาณ 7-9 ตัว ตัวเล็กขายได้ตัวละ 1,000 บาท แต่ถ้าตัวใหญ่จะขายได้ตัวละ 2,000 บาท” ผู้ใหญ่บ้านเล่าให้ฟังถึงวิธีการเลี้ยงหมูหลุม นอกจากนี้แล้ว ผมก็มาเพาะเห็ดนางฟ้า และเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ แต่การเลี้ยงไก่ก็จะไม่เหมือนกับที่อื่น ๆ โดยจะมีเวลาปล่อยให้ไก่ได้ออกมาเดินเล่นนอกรั้ว เพื่อที่ไก่จะได้พักผ่อน คลายเครียด ถึงเวลาไก่จะกลับเข้ารั้วเอง ทั้งนี้ไก่ที่เลี้ยงจะไม่ป่วยหรือเป็นโรค เพราะเราใช้น้ำชีวภาพและอาหารเม็ด สำหรับไข่ก็จะทำเข่งไว้ให้ไก่ได้เข้าไปไข่ ซึ่งวันหนึ่งจะได้ประมาณ 60 ฟอง จะเอามารวมไว้ ชาวบ้านคนไหนอยากจะได้ก็มาขอแบ่งซื้อสำหรับการเลี้ยงปลาดุกจะเลี้ยงในบ่อ ซีเมนต์ จะเลี้ยงตั้งแต่ปลาดุกตัวเล็ก ๆ จนประมาณ 4-5 เดือนถึงจะขาย โดยมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงที่ แต่บางทีก็ให้คนในหมู่บ้านเอาไปรับประทานกันเอง วันนี้ผมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในหมู่บ้านตั้งแต่ปี 2552 หลังจากที่ประเทศไทยเกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ในช่วงแรก ๆ ก็ยังไม่มีใครเชื่อว่าจะสามารถทำได้ แต่เมื่อเขาเห็นว่า เราทำได้ และสิ่งที่ทำทำให้เรามีความสุข ครอบครัวอบอุ่น มีรายได้ที่พออยู่พอกิน มีพืชผักสวนครัวไว้กินตลอดปี อย่างในหมู่บ้านจะมีลูกบ้านคนหนึ่งมีโรงสีข้าว เล็ก ๆ นอกจากจะสีข้าวให้กับตัวเองแล้วยังมีชาวบ้านมาขอให้สีโดยจะให้รำและปลายข้าวเป็นค่าตอบแทน หลังจากนี้ผมจะนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขยายไปยังหมู่บ้านและชุมชนอื่น ๆ เพื่อให้พวกเขามีชีวิตที่พอเพียง ไม่ต้องดิ้นรน หรือกระเสือกกระสนไปทำงานนอกบ้าน จะเห็นได้ว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักปรัชญาที่มีคุณค่าในการดำรงชีวิตให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง หรือแม้แต่ในยามที่เศรษฐกิจตกต่ำ เข้าสู่ยุคสินค้าราคาแพง ชาวบ้านก็ไม่ต้องวิตกกังวล ตราบใดที่เรายึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงดำเนินชีวิต. อุบล ชาญปรีชาสมุทร http://www.dailynews.co.th/
Share this game :

No comments:

Post a Comment

 

Copyright ©2011- 2013 เรื่องย่อละคร ดูละครย้อนหลัง ดูทีวีออนไลน์ 3,5,7,8,9,tpbs ดูละคร, ละครย้อนหลัง, ซิทคอม, รายการ